มอเตอร์จัดเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสูงสุดในโรงงาน ดังนั้นประสิทธิภาพมอเตอร์ที่เราใช้จึงสำคัญและมีผลต่อค่าใช้จ่ายพลังงานมากที่สุด มอเตอร์ที่มีขายในท้องตลาดโดยทั่วๆไป บางบริษัทได้มีการผลิตตามมาตรฐาน แต่บางบริษัทก็ต้องการผลิตมอเตอร์ที่มีราคาถูก จึงใช้ส่วนประกอบคุณภาพต่ำ ทำให้มอเตอร์กินไฟสูง สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าและมีอายุการใช้งานสั้น
มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง เป็นมอเตอร์อินดักชั่นที่ผู้ผลิตออกแบบและผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยมีส่วนประกอบโครงสร้างที่ปรับปรุงขึ้นจากมอเตอร์ทั่วไป ดังนี้
คุณภาพของแกนเหล็ก สำหรับมอเตอร์ประสิทธิภาพสูงจะเลือกใช้แผ่นเหล็กซิลิกอนเคลือบด้วยฉนวนที่มีคุณภาพสูงชนิด High Grade Silicon Steel ซึ่งลดการสูญเสียในแกนเหล็กลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับแกนเหล็กที่มีส่วนผสมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Laminated Steel) ที่ใช้ในมอเตอร์ธรรมดาทั่วๆ ไป
แผ่นเหล็กที่ใช้ประกอบเป็นแกนเหล็กสเตเตอร์และโรเตอร์จะมีความบางกว่า เพื่อจะเพิ่มความต้านทานของแผ่นเหล็กทำให้กระแสไหลวน (Eddy Current) น้อยลงลดการสูญเสียในแกนเหล็กลงแต่มีราคาสูง
เพิ่มขนาดของตัวนำทองแดง ที่สเตเตอร์ใหญ่กว่าที่ใช้ในมอเตอร์ทั่วๆไป 35 – 40% เพิ่มขนาดตัวนำที่ฝังอยู่ในโรเตอร์และตัวนำวงแหวนที่ปิดลัดวงจรที่หัวท้ายของโรเตอร์ให้ใหญ่ขึ้นเพื่อลดความต้านทาน ทำให้ลดการสูญเสีย I2 R ที่เปลี่ยนเป็นความร้อน
ร่องสลอตแกนเหล็กสเตเตอร์ใหญ่และยาวขึ้น ทำให้รองรับตัวนำทองแดงที่ใช้ขนาดใหญ่ขึ้น แกนเหล็กที่ขยายความยาวออกไปทำให้เพิ่มพื้นที่แกนเหล็ก ลดความหนาแน่นของสนามแม่เหล็ก และมีผลทำให้ตัวประกอบกำลังไฟฟ้า (Power Factor) สูงขึ้น กระแสไฟฟ้าไหลเข้าขดลวดสเตเตอร์จะได้ลดลง
ลดช่องว่างอากาศระหว่างสเตเตอร์และโรเตอร์ ทำให้ความต้านทานต่อเส้นแรงแม่เหล็กจากสเตเตอร์ไปโรเตอร์น้อยลง ทำให้เส้นแรงแม่เหล็กสูงขึ้นและลดเส้นแรงแม่เหล็กรั่วไหลออกมอเตอร์จะใช้พลังงานไฟฟ้าลดลง แต่ได้แรงบิดเท่าเดิม และยังลดการสูญเสียในสภาวะการใช้งานลง (Stray losses)
ใช้ตลับลูกปืนที่มีแรงเสียดทานน้อยลง ทำให้ประสิทธิภาพของมอเตอร์สูงขึ้น
ใช้พัดลมระบายความร้อนที่ลดแรงเสียดทานลมและมีขนาดเล็ก
มาตรฐาน IEC ได้จัดมอเตอร์เป็น 4 เกรด คือ มอเตอร์มาตรฐาน (standard motor) เรียกว่า IE1 มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง(High efficiency motor) หรือ IE2 และประสิทธิภาพสูงพิเศษ (Premium efficiency)หรือ กลุ่ม IE3 ซึ่งจะมีประสิทธิภาพสูงกว่ามอเตอร์ธรรมดา 2-4 % ในบ้านเรามอเตอร์ที่ใช้กันส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มมอเตอร์ธรรมดา ปัจจุบันมีการนำมอเตอร์ประสิทธิภาพสูงสุด หรือ IE4 ซึ่งประสิทธิภาพสูงกว่า IE3 ถึงร้อยละ 15 เข้าสู่ตลาดแล้ว และคาดว่าจะแพร่หลายมากขึ้น
ในปัจจุบันนอกจากมอเตอร์ที่ได้รับมาตรฐาน (IE1) แล้วยังมีการผลิตมอเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นพิเศษ (IE2) ออกจำหน่ายด้วย แต่มีราคาสูงกว่ามอเตอร์ทั่วไปที่มีขายอยู่ประมาณ 20 – 25 % เพราะต้องใช้ส่วนประกอบที่มีคุณภาพสูงมอเตอร์ไม่ร้อนทำให้มีอายุการใช้งานยาวนานกว่ามอเตอร์ทั่วไป ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิต เมื่อคิดคำนวณดูแล้วจะคุ้มเมื่อเลิกใช้มอเตอร์มาตรฐาน
มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง ทำงานมีค่าประสิทธิภาพประมาณ 90% ในช่วงภาระโหลด (Load) ที่กว้าง คือ ตั้งแต่ 70 – 130% ของพิกัด (Rated Load) ในขณะที่มอเตอร์มาตรฐานนั้น มีค่าประสิทธิภาพดีที่สุด ประมาณ 82% อยู่ในช่วงภาระงานแคบๆ คือ 50 - 60% ของพิกัดเท่านั้น นอกจากให้ค่าประสิทธิภาพที่ต่ำกว่า แล้วยังมีข้อสังเกตสำหรับมอเตอร์มาตรฐานที่เห็นได้อีกประการหนึ่งว่า ถ้าจะนำมอเตอร์มาตรฐาน ขนาด 5 แรงม้า ตัวนี้ไปใช้ทำงานจริง ควรที่จะออกแบบให้รับภาระงานเพียง 50 – 60% ของพิกัด หรือ ประมาณ 2 – 3 แรงม้าเท่านั้น จึงจะเป็นการใช้งานที่ประหยัดที่สุด ซึ่งนอกจากจะสิ้นเปลืองพลังงาน และต้องมีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น